หลงตนก็คือหลงโลก
ฉะนั้น โลกทั้งหมดจึงเป็นสังขารโลกโดยสมมติ ถ้ามีสติปัญญาที่ดี จึงพิจารณาโลกให้เป็นธรรมได้ เพราะสัจธรรมก็มีอยู่ประจำโลกมาแต่กาลไหนๆ เช่น ธาตุขันธ์ที่มีอยู่ประจำโลกก็น้อมเข้ามาเป็นธรรมได้ ฉะนั้นจึงพิจารณาเพื่อให้รู้โลก จึงจะข้ามกระแสโลกนี้ไปได้ จึงเป็นผู้ไม่หลงโลก ไม่หลงติดในสมมติของโลก เพราะมารู้เห็นเรื่องโลกและความเป็นอยู่ของโลกได้ดี เพราะโลกนี้ก็มีสัจธรรมอยู่ในตัวของโลกอย่างพร้อมมูล จึงทำให้เกิดความยินดีพอใจอยู่ในภพชาติ หลงภพหลงชาติโดยไม่รู้ตัว ความไม่รู้นี้เองจึงเรียกว่าอวิชชา คำว่าอวิชชาก็คือ จิตไม่รู้ความจริงของโลกนั่นเอง ถึงจะเกิดและตายอยู่ในโลกนี้มาหลายภพหลายชาติก็ไม่รู้ตามความเป็นจริงของโลก
ฉะนั้น จึงได้ลอยตามกระแสโลกตลอดมาและจะลอยตามกระแสโลกตลอดไป เหมือนกับผู้เดินไปในความมืด จะเดินวกไปเวียนมาหาที่เก่าก็ไม่รู้ตัว และยังเข้าใจว่าเป็นที่ใหม่อยู่ตลอดไป จะอยู่ที่ไหนก็อยู่ไปได้ชั่วคราว เมื่อถึงกาลเวลาแล้วจำเป็นก็ต้องย้ายจากที่นั้นไป จะไปอยู่ที่ไหนก็ไปจับจองเอาสถานที่แห่งนั้นว่าเป็นของของตนทุกที่ไป ในที่สุดก็ไม่เห็นได้อะไรเลย เราเคยเกิดเคยตายอยู่ในโลกนี้หลายกัปหลายกัลป์นับภพนับชาติไม่ถ้วน ประมวลไม่จบ ก็มาเกิดมาตายอยู่ในโลกที่เก่า จะมีของใหม่มาจากที่ไหน แต่ความไม่เข้าใจในตัวเองนั่นแหละเป็นเหตุ จึงได้หลงและไม่รู้ในความเข้าใจผิดของตน จึงได้มาจับจองเอาโลกนี้ว่าเป็นที่อยู่ของตน นี้ก็เพราะความหลงตนลืมตนและหลงโลก จึงได้เวียนตามกระแสของโลกโดยไม่มีจุดมุ่งหมายปลายทาง จงว่าผู้หลงโลกก็คือ ความหลงตนนั่นเอง
หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ
Posted on 19/01/2011, in ทวนกระแสโลกพบกระแสธรรม and tagged Buddhism, Dhamma, Meditation. Bookmark the permalink. ใส่ความเห็น.
ใส่ความเห็น
Comments 0